มหาวิทยาลัยเอดินบะระทำการทดสอบหน้ากาก 7 แบบ ซึ่งรวมถึงหน้ากากทางการแพทย์ หน้ากากกันสารพิษ เกราะป้องกันหน้า (face shield) ทั้งแบบหนาและแบบบาง และหน้ากากผ้าทำมือ โดยประเมินจากการสวมหน้ากากชนิดต่างๆ ในอิริยาบถนั่งและนอน รวมทั้งใช้หุ่นจำลองกับเครื่องจำลองการไอ และสังเกตระยะทางและทิศทางการกระจายของเชื้อโรคในอากาศ เมื่อมีคนจามหรือหายใจแรงๆ ผลปรากฏว่า การสวมหน้ากากหรือการปิดปากหรือจมูก จะช่วยลดระยะทางที่เชื้อโรคกระจายในอากาศได้มากกว่า 90%
เนื่องจากลมหายใจมักจะประกอบไปด้วยละอองฝอยของน้ำ และบางครั้งอาจจะมีเชื้อไวรัสปนอยู่ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงระบุว่า การสวมหน้ากากเป็นวิธีการหลักในการจัดการกับโรค COVID-19
ดร.เฟลิซิตี เมเฮนเดล ศัลยแพทย์จากศูนย์สุขภาพโลก สถาบันอัชเชอร์ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวว่า หน้ากากผ้าทำมือก็มีประสิทธิภาพในการหยุดละอองฝอยจากการหายใจ ไม่ให้กระจายออก เทียบเท่ากับหน้ากากทางการแพทย์ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าหน้ากากสามารถป้องกันไม่ให้ผู้สวมใส่ติดเชื้อจากบุคคลอื่นๆ ได้
Advertisementอย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยก็เตือนว่า หน้ากากแต่ละชนิดก็มีจุดอ่อนที่แตกต่างกัน เช่น หน้ากากอนามัยและหน้ากากทำมือสามารถจำกัดละอองฝอยจากการหายใจไม่ให้กระจายไปทางด้านหน้า แต่อาจจะทำให้ละอองฝอยดังกล่าวพุ่งอย่างแรงออกทางด้านข้างหน้ากากแทน นอกจากนี้ยังพบว่า หน้ากากที่แนบเข้ากับใบหน้าจะช่วยป้องกันไม่ให้ละอองฝอยที่ปนเปื้อนอนุภาคของไวรัสกระจายออกมาได้
ดร.อิกนาซิโอ มาเรีย วิโอลา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอดินบะระ หนึ่งในผู้ร่วมการวิจัยครั้งนี้ ระบุว่า บางครั้งการสวมหน้ากากก็ทำให้เกิดการพุ่งออกทางด้านบนหรือด้านหลังของหน้ากาก ซึ่งผู้สวมใส่อาจไม่รู้ตัว และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคนรอบข้าง จึงจำเป็นต้องระมัดระวังก่อนที่จะหันหน้าขณะไอ และควรดูด้วยว่าคุณกำลังยืนอยู่ข้างหลังหรือข้างๆ ผู้ที่สวมหน้ากากอยู่หรือไม่
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังกล่าวว่า ผลการวิจัยครั้งนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนแนวทางการสวมหน้ากากอย่างเป็นทางการ เพื่อรับมือกับเชื้อไวรัสโคโรนา
ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่