ภาครัฐเปิดเผยตัวเลขปริมาณการตรวจวินิจฉัยหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งพบว่าปัจจุบันตรวจไปแล้วกว่า 286,000 ตัวอย่าง ขณะที่มีการตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายการตรวจให้อยู่ที่อัตรา 6,000 ต่อประชากรล้านคน หรือก็คือต้องตรวจให้ได้ประมาณ 400,000 ตัวอย่าง
วันนี้ (12 พ.ค.) หลังจาก นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ โฆษก ศบค. แถลงอัปเดตข้อมูลประจำวันไปแล้วนั้น
ไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 2 ราย ป่วยสะสม 3,017 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม
ต่อมา นพ.ทวีศิลป์ มีการกล่าวถึงปริมาณการตรวจเพื่อวินิจฉัยหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยว่า ได้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรคโควิด-19 โดยการตรวจหาสารพันธุกรรม (RT-PCR) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานสากล ไปแล้ว 286,008 ตัวอย่าง คิดเป็น 4,294 ตัวอย่างต่อประชากรหนึ่งล้านคน ซึ่งเป็นข้อมูลที่อัปเดตถึงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563
Advertisementทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 2-8 พฤษภาคม 2563 ได้ตรวจไปแล้ว 46,468 ตัวอย่าง โดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ
จุดที่น่าสนใจก็คือ อัตราการตรวจเมื่อเทียบกับประชากรหนึ่งล้านคนนั้น ในปัจจุบันไทยยังมีสัดส่วนการตรวจที่น้อยกว่าอิตาลี สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และมาเลเซีย แต่ก็มีอัตราการตรวจที่สูงกว่าไต้หวัน เวียดนาม ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ดังที่แสดงในภาพข้างบน
ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวว่า มีการตั้งเป้าหมายการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไว้ที่ 6,000 คนต่อประชากรล้านคน คาดประมาณการตรวจ 85,000 คนต่อเดือน ซึ่งจากตัวเลขจำนวนประชากรทั้งประเทศจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 ที่สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เผยแพร่ออกมานั้นมีทั้งสิ้น 66.5 ล้านคน
ดังนั้น หากจะตรวจให้ได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ที่ 6,000 ต่อประชากรล้านคน นั่นหมายความว่าจะต้องตรวจให้ได้ประมาณ 399,000 หรือคิดเป็นตัวเลขกลมๆ ก็คือ 4 แสนตัวอย่างนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม นอกจากภาครัฐจะขยายเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงในการสอบสวนโรคแล้วนั้น ยังมีการเพิ่มมาตรการด้วยการหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Active Case Finding) ทั้งในกลุ่มเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง จากเดิมที่เน้นเฉพาะการตรวจค้นหาในผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือคนในครอบครัวเท่านั้น