วอชิงตัน, 13 พ.ค. (ซินหัว) — ผลสำรวจจากวิทยาลัยวิลเลียม แอนด์ แมรี (College of William & Mary) และนิตยสารฟอเรน โพลิซี (Foreign Policy) ซึ่งเผยแพร่เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม อ้างอิงความคิดเห็นของเหล่านักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสหรัฐฯ ระบุว่าวิธีการรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของฝ่ายบริหารที่นำโดยโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ประเทศเสื่อมเสียชื่อเสียง
ข้อมูลจากคณะนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จำนวน 982 คน ระบุว่าการรับมือโรคระบาดใหญ่อย่างไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะทำลายชื่อเสียงระดับนานาชาติของสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียความเคารพนับถือและลดความเชื่อมั่นของต่างประเทศว่าสหรัฐฯ จะยินดีจัดสรรสินค้าสาธารณะแห่งโลก (global public goods) และปฏิบัติตามพันธสัญญาของตนเอง
ร้อยละ 97 ของผู้ตอบแบบสำรวจไม่เห็นว่าสหรัฐฯ เป็นผู้นำ และมองว่าสหรัฐฯ ดำเนินบทบาทอย่าง “ด้อยประสิทธิภาพ” หรือ “ไร้ประสิทธิภาพ” ในการประสานงานรับมือโรคโควิด-19 ระดับนานาชาติ โดยผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ให้คะแนนเชิงลบแก่สหรัฐฯ รวมถึงเชื่อว่าต่างประเทศมองว่าสหรัฐฯ ไม่เต็มใจจัดสรรสินค้าสาธารณะและปฏิบัติตามพันธสัญญาระหว่างประเทศ ตลอดจนมีแนวโน้มเคารพระบบระหว่างประเทศน้อยลงด้วย
สามในสี่ของคณะนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระบุว่าวิธีการรับมือกับโรคโควิด-19 ของฝ่ายบริหารที่นำโดยทรัมป์ อาจทำให้สหรัฐฯ สูญเสียความเชื่อมั่นในฐานะประเทศที่มีอำนาจและศักยภาพทางวัตถุระดับไร้คู่เปรียบเทียบ
Advertisementทรัมป์อ้างว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ล้มเหลวในการแบ่งปันข้อมูลอย่าง “ทันเวลาและโปร่งใส” จึงสั่งระงับการส่งเงินสนับสนุนองค์การฯ ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการกระทำที่ได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในและต่างประเทศ
ผลสำรวจชี้ว่าชุมชนปัญญาชนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการตัดสินใจและนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเกือบร้อยละ 30 ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าสหรัฐฯ ควรส่งเงินสนับสนุนองค์การฯ ตามจำนวนเดิมก่อนเกิดโรคระบาด และราวสองในสามชี้ว่าสหรัฐฯ ควรเพิ่มจำนวนเงินสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือองค์การฯ
นอกจากนั้นกว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าองค์การฯ ดำเนินบทบาทการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้ “ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ” จนถึง “มีประสิทธิภาพมาก”
อนึ่ง ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ รายงานว่าสหรัฐฯ มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 รวมอยู่ที่ 1,369,376 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิต 82,356 ราย เมื่อนับถึง 9.32 น. ของวันพุธ (13 พ.ค.) ตามเวลาประเทศไทย