ในช่วงที่ผ่านมา มีงานวิจัยใหม่ 2 ชิ้นที่ชี้ว่า การขาด “วิตามินดี” ส่งผลให้มีความเสี่ยงติดโรคโควิด-19 มากขึ้น โดยนักวิจัยระบุว่า การไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการหนัก
งานวิจัยชิ้นแรก เป็นงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการศึกษาและเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา จากทั้งหมด 10 ประเทศ เช่น จีน อิหร่าน เยอรมนี อิตาลี และสหรัฐอเมริกา โดยทีมวิจัยเปรียบเทียบข้อมูลเหล่านี้กับระดับวิตามินดีในร่างกายของประชาชนก่อนเกิดการระบาดใหญ่ในประเทศที่ทำการศึกษา และค้นพบความสัมพันธ์ของการขาดวิตามินดีกับการเกิดพายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm) หรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ผลิตสารภูมิคุ้มกันออกมามากจนเกินไป เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของการขาดวิตามินดีกับอัตราการเสียชีวิต

“พายุไซโตไคน์จะสร้างความเสียหายให้กับปอด นำไปสู่อาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่เสียชีวิต” Ali Daneshkhah ผู้ช่วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น กล่าว
ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Aging Clinical and Experimental Research และเป็นผลงานของนักวิจัยชาวอังกฤษ ค้นพบว่า ในบรรดาประเทศแถบยุโรป 20  ประเทศ ประเทศที่ประชาชนมีภาวะระดับวิตามินดีในร่างกายสูงกว่าค่าเฉลี่ย จะมีอัตราผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศอิตาลีและสเปน ซึ่งมีสถิติผู้เสียชีวิตสูง และประชาชนทั้ง 2 ประเทศมีภาวะระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ในประเทศทางยุโรปเหนือ เช่น ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน ซึ่งประชาชนมีภาวะระดับวิตามินดีในร่างกายสูง กลับมีอัตราผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม งานวิจัยไม่ได้ระบุว่า การเพิ่มระดับวิตามินดีในร่างกายจะทำให้อาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดีขึ้นหรือไม่ และนักวิจัยก็สนใจที่จะทำการศึกษาให้ลึกลงไปอีก
Advertisement
“วิตามินดีสามารถป้องกันการติดเชื้อฉับพลันในระบบหายใจ และในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีระดับวิตามินดีต่ำ ก็เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะติดโรคโควิด-19 มากที่สุด” Lee Smith นักวิจัย กล่าว
สอดคล้องกับงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ที่ระบุว่า วิตามินดีอาจช่วยอธิบายว่าทำไมคนบางกลุ่มถึงมีความเสี่ยงติดโรคมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้สูงอายุ ที่มีภาวะวิตามินดีในร่างกายต่ำ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะติดโควิด-19 ในทางกลับกัน เด็กกลับมีรายงานว่าติดเชื้อโควิด-19 น้อย เพราะระบบภูมิคุ้มกันจะไม่ทำงานกับเชื้อไวรัส จึงไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น พายุไซโตไคน์ ทั้งนี้ ยังไม่มีวิตามินใดที่สามารถรักษาโรคได้ ดังนั้น จึงควรรับวิตามินดีจากแสงแดด อาหาร หรือการกินวิตามินเสริมให้เพียงพอต่อความต้องการ เพราะการรับวิตามินดีที่มากจนเกินไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นกัน