กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันจัดเตรียมแนวทางเปิดเรียน เน้นความร่วมมือโรงเรียนและผู้ปกครอง ปฏิบัติตาม 6 แนวทาง “คัดกรอง-สวมหน้ากาก-ล้างมือ-เว้นระยะห่าง-ทำความสะอาดผิวสัมผัส-ลดกิจกรรมรวมกลุ่ม” เผยกลุ่มเด็กนักเรียนใช้เวลาอยู่ร่วมกันนานกว่าการเดินห้าง และเมื่อป่วยจะแสดงอาการน้อย อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ช่วงบ่ายวานนี้ (21 พฤษภาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการล่วงหน้าสำหรับการเปิดภาคเรียนในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยสถิติการระบาดในประเทศไทยพบว่า กลุ่มเด็ก 10-19 ปี มีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 3.81 ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ เมื่อมาโรงเรียนใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดร่วมกัน 5-7 ชั่วโมงต่อวัน นานกว่าการเดินในห้างสรรพสินค้า จึงมีความเสี่ยงติดเชื้อในกลุ่มเพื่อน และเมื่อเด็กกลับบ้านจะอยู่ใกล้ชิดและแพร่เชื้อไปสู่คนในครอบครัวได้
อย่างไรก็ตาม การเปิดภาคเรียน โรงเรียนจะต้องเตรียมการล่วงหน้าเพื่อให้พร้อมเปิดเรียนอย่างปลอดภัย โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและภาคีเครือข่าย จัดทำมาตรการและคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา ป้องกันโควิด-19 ให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และชี้แจงแนวทางปฏิบัติกับบุคลากรสาธารณสุข จัดอบรมครู “รอบรู้สุขอนามัย” ในโรงเรียนรองรับสถานการณ์โควิด-19 กลางเดือนมิถุนายน 63 ให้โรงเรียนประเมินตนเองตามแพลตฟอร์มไทยสต็อปโควิด (https://stopcovid.anamai.moph.go.th)
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อว่า เมื่อเปิดภาคเรียน โรงเรียนจะต้องดำเนินการ 6 แนวทาง ประกอบด้วย
1.การมีมาตรการคัดกรอง เช่น วัดไข้ก่อนเข้าโรงเรียน ผู้ปกครองร่วมให้ประวัติหากมีความเสี่ยง หากเด็กมีอาการไข้ไม่สบายต้องหยุดเรียนทันที และแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่
2.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในโรงเรียน
3.จัดจุดล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างเพียงพอ
4.การเว้นระยะห่างในห้องเรียน เน้นจัดการเรียนการสอนให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ให้มีกิจกรรมทำในกลุ่มเดียวกันตลอดทั้งวัน
5.เน้นการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ที่ใช้ร่วมกัน อาทิ สนามเด็กเล่น ลูกบิดประตู ห้องน้ำ ร่วมกับการจัดกลุ่มสลับกันใช้งานเพื่อช่วยลดการสัมผัสร่วมกันจำนวนมาก และ
Advertisement6.ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่เกิดการรวมกลุ่มของเด็ก
“การเปิดเรียนจะต้องขอความร่วมมือผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนในการป้องกันโรค ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่า อย่ากังวลใจมากเพราะได้มีการเตรียมมาตรการเพื่อความปลอดภัยของเด็ก ย้ำเรื่องการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และโรงเรียนต้องประเมินความเสี่ยงเพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์ ทำงานร่วมกับหน่วยงานอนามัยโรงเรียนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดเพื่อการควบคุมโรค” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว
ส่วนรูปแบบการเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค. 63 ต้องแล้วแต่พื้นที่ หากเรียนที่โรงเรียนได้ก็เรียนที่โรงเรียน อย่างจังหวัดที่ปลอดโรคมานาน 28 วัน ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจเปิดเรียนได้ทุกชั้นเรียนและทุกโรงเรียน ส่วนพื้นที่เสี่ยงสูง ก็แล้วแต่การพิจารณา เช่น แบ่งชั้นเรียนเหลื่อมเวลากันเรียน หรือเรียนผ่านออนไลน์ เป็นต้น
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ชี้แจงถึงความแตกต่างในการอนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้าแต่ยังไม่ให้เปิดโรงเรียน ว่า เนื่องจาก 2 กรณีนี้แตกต่างกันในด้านของกลุ่มผู้ใช้บริการ
ซึ่งในห้างสรรพสินค้าจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ และมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด อีกทั้งกิจการต่างๆ มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ขณะที่โรงเรียนจะเป็นกลุ่มเด็ก ซึ่งมีความเปราะบาง เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย เพราะการสัมผัสใกล้ชิดกัน อีกทั้งมีโอกาสที่จะนำเชื้อไประบาดที่บ้านและกระทบต่อผู้สูงอายุได้
ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์แล้วจึงเห็นว่าโรงเรียนมีความเสี่ยงมากกว่า จึงจำเป็นต้องชะลอการเปิดออกไปก่อน อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ยังสามารถพัฒนาการเรียนได้ทุกที่ และทาง ศบค.เข้าใจถึงปัญหา กำลังหาทางผ่อนคลาย เพื่อให้กลับเข้ามาสู่ปกติได้ แต่ต้องเป็นชีวิตวิถีใหม่
สำหรับกรณีการทำงานจากที่บ้าน ( Work from Home ) ยังเป็นมาตรการที่กำหนดไว้ โดยอย่างน้อยต้องปฏิบัติให้ได้ร้อยละ 50 มิเช่นนั้นจะเกิดความแออัด โดยเฉพาะระหว่างเดินทางในรถสาธารณะ ดังนั้นขอความร่วมมือบริษัทอย่าเพิ่งยกเลิกการทำงานจากที่บ้าน รวมถึงการทำงานเหลื่อมเวลาด้วย
ทั้งนี้ ฝากว่าขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกันตนเอง การ์ดอย่าตกและหน้ากากอย่าตก ต้องสวมใส่ให้ถูกวิธี จึงจะช่วยป้องกันโรคได้